ปวดฟันเกิดจากฟันคุดขึ้น หรือเปล่า ?

ฟันคุด

ฟันคุด คือ อะไร ?

ฟันคุด คือ ฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ มีลักษณะการขึ้นไม่เต็มที่หรือมีแนวการขึ้นของฟันที่ผิดปกติ ทำให้อาจเห็นเพียงฟันบางส่วนหรือไม่เห็นเลยเพราะเนื้อฟันฝังตัวอยู่ใต้เหงือก บริเวณกระดูกขากรรไกร

ฟันคุด (Impacted Tooth, Wisdom Tooth) พบได้บ่อยที่สุดคือ ฟันกรามซี่ที่ 3 ซึ่งเป็นฟันกรามซี่ในสุดทั้งบนและล่าง ทั้ง 2 ฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งเป็นฟันซี่ที่ขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่นๆ

อธิบายก่อนว่าโดยปกติแล้ว คนเราจะมีฟันทั้งหมด 32 ซี่ และจะมีการขึ้นของลำดับฟัน ไล่เรียงกันไปตามช่วงอายุตั้งเเต่ ฟันตัด ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย ไปจนถึงฟันกรามใหญ่ ส่วนใหญ่มักพบว่ามีขึ้นในช่วงอายุประมาณ 17 ถึง 25 ปี หรือบางคนอาจจะช้ากว่านั้น

ฟันคุด

วิธีรักษาฟันคุด

ฟันคุดจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดตามมา เช่น ปวดฟัน ปวดเหงือก
เหงือกบวม เหงือกอักเสบ ติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากเศษอาหารสะสมอยู่ที่ช่องว่างฟันคุดและฟันซี่ข้างเคียงผุได้

การที่ทันตแพทย์จะตัดสินใจรักษาฟันคุดด้วยการผ่าหรือถอนฟันคุด ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ สุขภาพช่องปากของคนไข้

เมื่อไหร่ที่สามารถถอนฟันคุดได้: การถอนฟันคุดออกเหมาะกับ
– ฟันคุดที่โผล่ขึ้นจากแนวเหงือกจนสุด สังเกตตัวฟันให้เห็นได้ในช่องปาก
– มีช่องว่างในปากเพียงพอสำหรับให้ฟันขึ้นได้โดยไม่ซ้อนเก ไม่กระทบกับอาการเจ็บปวด ไม่มีปัญหาการเรียงตัวของฟัน
– ฟันคุดประเภทที่ไม่ติดอยู่ใต้เหงือกหรือกระดูกขากรรไกรสามารถถอนออกได้

เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าฟันคุด: เคสที่จำเป็นต้องผ่าฟันคุดออก
– ฟันคุดที่ยังโผล่ออกมาจากเหงือกหรือกระดูกไม่เต็มที่
– ฟันคุดมีอาการปวด บวม ติดเชื้อ กระทบกับฟันซี่ข้างเคียง
– ฟันอยู่ในตำแหน่งที่อาจก่อให้เกิดปัญหาทางทันตกรรมในอนาคตได้ เช่น มีแนวการขึ้นเบียดฟันซี่ข้างๆ ทำให้ฟันล้มหรือซ้อน
– ฟันมีความเสี่ยงที่จะทำลายกระดูกขากรรไกรหรือฟันซี่ข้างเคียงจากตำแหน่งหรือรูปแบบการเจริญเติบโต

ขั้นตอนการรักษาฟันคุด

  1. ทันตแพทย์วินิจฉัยตำแหน่ง เเนวการขึ้นของฟันคุด จากภาพเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
  2. สำหรับการรักษาฟันคุดด้วยการถอนฟัน
    2.1 คุณหมอจะฉีดยาชาบริเวณรอบฟันที่จะต้องถอน รอจนกว่ายาชาจะออกฤทธิ์
    2.2 คุณหมอจะค่อยๆ คลายฟันและถอนฟันออกจากเบ้าฟันในกระดูกขากรรไกรโดยใช้เครื่องมือทันตกรรมพิเศษ
  3. ในกรณีที่ต้องรักษาฟันคุดด้วยการผ่า
    3.1 เริ่มต้นคุณหมอจะฉีดยาชาให้ก่อนและรอจนกว่ายาชาจะออกฤทธิ์
    3.2 หลังจากนั้นก็จะเริ่มผ่าเหงือกและค่อยๆเอาฟันคุดออกมา แต่ถ้าหากว่าฟันอยู่ในแนวระนาบอาจต้องมีการกรอฟันและค่อยๆเอาฟันออกมา
    3.3 เมื่อเอาออกหมดแล้วคุณหมอจะล้างแผลให้สะอาดและเย็บปิดปากแผล หลังจากนั้นคุณหมอจะให้กัดผ้าก๊อซแน่นๆประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดหยุดไหล

ฟันคุดเกิดจากอะไร

ฟันคุดเกิดจากการพื้นที่บริเวณขากรรไกรมีไม่เพียงพอให้ฟันขึ้นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรม การที่ขากรรไกรมีขนาดเล็กกว่าฟันที่ขึ้นมา ทำให้ฟันไม่สามารถเจริญเติบโตเเละงอกขึ้นมาได้ ส่วนใหญ่พบในแนวฟันกรามซี่สุดท้ายมักขึ้นในตำแหน่งที่ผิดปกติ

ฟันคุด มีกี่ซี่

คนส่วนใหญ่มีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ ในตำแหน่งฟันกรามซี่ที่ 3 ซึ่งเป็นฟันกรามชุดสุดท้ายที่งอกออกมา โดยสองซี่อยู่ที่ขากรรไกรบนด้านในสุดและอีกสองซี่ที่ขากรรไกรล่างด้านในสุด

ฟันคุดมีกี่แบบ

โดยทั่วไปฟันคุดมี 2 แบบ แบ่งตามลักษณะการขึ้น ได้ดังนี้

  1. ฟันคุดแบบมีเหงือกปกคลุม (Soft Tissue Impaction) ลักษณะฟันคุดประเภทนี้แม้จะโผล่พ้นกระดูกขากรรไกรได้ แต่ยังไม่สามารถทะลุผ่านเหงือกได้ หรืออาจจะผ่านได้เพียงบางส่วน ฟันคุดประเภทนี้สามารถถอนได้ หรือผ่าแต่เหงือกโดยไม่ต้องกรอกระดูก
  2. ฟันคุดที่อยู่ภายใต้กระดูกขากรรไกร (Bony impaction)  ลักษณะฟันคุดที่ไม่สามารถโผล่พ้นกระดูกได้
    – ฟันคุดมีบางส่วนอยู่ในกระดูก (Partial Bony Impaction) ฟันคุดโผล่ขึ้นมาเหนือเหงือกบางส่วน แต่ติดอยู่ใต้กระดูกขากรรไกร
    – ฟันคุดอยู่ภายใต้กระดูกทั้งซี่ (Complete Bone Impaction) ฟันคุดทั้งซี่ฝังตัวอยู่ภายใต้กระดูกขากรรไกรและยังไม่โผล่พ้นเหงือก
    ฟันคุดประเภทนี้จะขึ้นมาเองไม่ได้ ปล่อยไว้อาจจะก่อให้เกิดถุงน้ำหรือดันฟันซี่อื่นให้ล้มได้ค่ะ  กรณีเช่นนี้ ต้องผ่าตัดเอาฟันคุดออกและเย็บแผล

ลักษณะ ฟันคุด

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งลักษณะฟันคุดได้จากความสัมพันธ์กับฟันข้างเคียงได้ 4 แบบ

  • ฟันคุดที่หันส่วนครอบฟัน (Crown) เข้าหาฟันกรามแท้ซี่ที่สอง (Mesioangular impaction/Mesial impaction) พบบ่อยที่สุด
  • ฟันคุดหันส่วนครอบฟันออก (Distoangular impaction/Distal impaction)
  • ฟันคุดสามารถขึ้นได้ตรงๆ (Vertical impaction)
  • ฟันคุดขึ้นในแนวนอน (Horizontal impaction)

ฟันคุดมีทุกคนมั้ย?

ไม่ใช่ทุกคนที่มีฟันคุด จากการศึกษาพบว่าประมาณ ⅓ เกิดมาโดยไม่มีปัญหาฟันคุด

ด้วยวิวัฒนาการโครงสร้างฟันที่แตกต่างกันไปในแต่ละคนได้ ในอดีตธรรมชาติของฟันกรามช่วยในการบดเคี้ยวอาหารแข็งเหนียว เช่น กิ่งไม่ เนื้อดิบ แต่รูปแบบอาหารที่เปลี่ยนไป มนุษย์ไม่ต้องการพลังในการบดเพิ่มเติมอีกต่อไป ร่างกายของเราจึงค่อยๆ ลดการใช้งานกระดูกกราม ทำให้ขนาดกรามเล็กลงตามไปด้วย

มีฟันคุดต้องหาหมอมั้ย จะรู้ได้อย่างไรว่ามีฟันคุด

โดยปกติเรามักจะไม่ค่อยสนใจกับฟันคุด หรือในบางคนอาจจะไม่ทราบด้วยว่าตัวเองมีฟันคุด เพราะฟันคุดไม่เห็นได้ด้วยตาหากฟันขึ้นอยู่ภายใต้กระดูกขากรรไกร จนถ้ามีอาการอักเสบที่เหงือกบริเวณที่มีฟันคุด คนไข้ที่ต้องการ จัดฟัน และเมื่อต้องตรวจเบื้องต้นคุณหมอให้เอกซเรย์ช่องปาก จึงทราบว่ามีฟันคุด ซึ่งเมื่อเรามีฟันคุด

ถ้าใครกังวลเรื่องนี้จริงๆก็สามารถแวะมาตรวจเช็คสุขภาพฟัน และมาพบทันตแพทย์เพื่อ x-ray ดูได้เช่นกันค่ะ เมื่อเราไปหาทันตแพทย์และตรวจพบว่าเรามีฟันคุด โดยส่วนมากทันตแพทย์จะแนะนำให้เราเอาฟันคุดออก เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับช่องปากอื่นๆ ที่อาจจะตามมา เพราะการปล่อยให้ฟันคุดฝั่งอยู่ในขากรรไกร อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดฟันคุด หรือฟันคุดดันฟันอื่นๆจนแนวฟันเสียหาย มีผลต่อการล้มของฟันซี่ข้างเคียง

สังเกต ฟันคุด

ฟันคุดมีหลายลักษณะ หลายๆเคสที่เกิดขึ้นอาจจะมองไม่เห็นได้ด้วยตา เพราะฟันไม่สามารถโผล่พ้นเหงือกตามแนวฟันปกติได้ แต่คุณสามารถสังเกตฟันคุดได้ เช่น

  1. เริ่มมีการปวดหรือเสียวเมื่อสัมผัสบริเวณที่เป็นฟันคุด: ถ้าใช้ลิ้นดุนหรือสัมผัสตรงเหงือกส่วนที่มีฟันคุดรู้สึกเสียว หรือเมื่อกัดหรือเคี้ยวอาหารโดนบริเวณฟันคุดอาจทำให้รู้สึกปวดได้
  2. ปวดฟัน เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเมื่อฟันคุดเริ่มเคลื่อนที่ อาจเริ่มต้นจากปวดเบา ๆ ไปจนถึงปวดรุนแรง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและสภาวะอักเสบของฟัน ถ้ามีการติดเชื้อมากเข้าอาจลามไปถึงเจ็บคอ กลืนน้ำลายไม่สะดวก ปวดแก้ม
  3. เหงือกบวมแดง: ฟันคุดที่พยายามดันตัวเองออกมาอาจทำให้เนื้อเยื่อหรือเหงือกบวมแดง เกิดการอักเสบได้
  4. สังเกตเห็นฟันคุดปรากฏอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ปกติ เช่น อาจเห็นฟันปรากฏบริเวณปลายด้านหลังของปากหรือถูกปิดบังด้วยเนื้อเยื่อหรือเหงือก
  5. มีกลิ่นปาก: ฟันคุดที่โผล่ขึ้นมาพ้นเหงือกบางส่วน อาจก่อให้เกิดช่องว่างบริเวณซอกฟันคุดและฟันข้างเคียง ทำให้เศษอาหารเข้าไปติด ทำความสะอาดได้ยาก ทำให้มีกลิ่นปาก ลามไปถึงฟันผุได้

ทางที่ดีถ้าเรารู้ว่าตัวว่ามีฟันคุด เริ่มสังเกตอาการปวดได้ขณะเริ่มต้น คอสเดนท์อยากให้นัดหมายกับทันตแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยทำให้การรักษาเป็นไปได้ง่าย ไม่ต้องเสี่ยงกับการอักเสบที่ลุกลาม เเละต้องอดทนรอกินยาเพื่อลดการอัพเสบจึงจะสามารถผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุดออกได้

เตรียมตัวก่อนรักษาฟันคุด

  • นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์มีผลให้การหมุนเวียนของเลือด ทำให้เลือดสูบฉีดมาก เสี่ยงต่อการสูญเสียเลือดมากขึ้น
  • งดเว้นการสูบบุหรี่
  • ทำความสะอาดฟัน
  • หากมีการทานวิตามินหรืออาหารเสริมสามารถแจ้งเพื่อปรึกษากับคุณหมอว่าควรหยุดทานก่อนผ่าตัดหรือไม่
  • ถ้ามีโรคประจำตัวควรแจ้งคุณหมอทราบก่อนค่ะ

วิธีดูแลฟันหลังผ่า/ถอนฟันคุดออกแล้ว

คำแนะนำหลังการผ่าฟันคุด/ถอนฟันคุด

  • ห้ามเลือดออกด้วยกัดผ้าก๊อซที่ทันตแพทย์เตรียมไว้ให้เพื่อห้ามเลือด กัดทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง และสามารถเปลี่ยนผ้าก๊อซใหม่ได้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล
  • อาการบวมเป็นเรื่องปกติหลังการผ่าตัดช่องปาก การประคบน้ำแข็งที่ด้านนอกแก้มทุกๆ 20 นาทีในช่วง 24 ชั่วโมงแรก จะช่วยลดอาการบวมได้ หลังจากวันแรก สามารถใช้การประคบอุ่นเพื่อบรรเทาอาการไม่สบายได้
  • ทันตแพทย์จะสั่งยาแก้ปวด ให้รับประทานยาตามคำแนะนำ  คุณสามารถเริ่มใช้ยาแก้ปวดก่อนที่ยาชาเฉพาะที่จะหมดฤทธิ์เพื่อป้องการอาการปวดหลังผ่าตัด
  • ไม่แนะนำให้บ้วนเลือดหรือน้ำลายภายใน 12 ชั่วโมงหลังการถอน จะไปรบกวนแผลที่ผ่าตัดหรือถอนฟัน ทำให้เลือดไม่หยุดไหล แนะนำให้คนไข้กลืนเลือด และน้ำลายได้เลย พร้อมกัดผ้าก๊อซไว้ 2 ชั่วโมง
  • ให้เวลาร่างกายได้พักผ่อนและฟื้นตัว  หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากสัก 2-3 วันหลังการผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์: การสูบบุหรี่อาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนฟื้นตัว และแอลกอฮอล์อาจรบกวนประสิทธิภาพของยาและทำให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ติดตามความคืบหน้าในการรักษา ตามที่ทันตแพทย์นัดหมาย
  • เฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน: สังเกตสัญญาณของการติดเชื้อ ถ้ามีอาการปวด บวม แดง มีไข้ ควรติดต่อทันตแพทย์ทันที
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่ทำการผ่าตัด: หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่ทำการผ่าตัดด้วยนิ้วหรือลิ้น เนื่องจากอาจทำให้เกิดแบคทีเรียและขัดขวางการรักษาได้
  • รักษาความสะอาดของช่องปากด้วยความระมัดระวัง สามารถแปรงฟันได้ตามปกติ
  • ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เคี้ยวง่าย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ดร้อนในช่วง 2 – 3 วันแรก

Related Posts

ปวดฟัน
ทำความรู้จักฟันของเรา อาการปวดฟันเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งเมื่อเกิดอาการปวด หรือเสียวฟันมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ก็ควรมาพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามมากขึ้น ส่วนประกอบของฟัน มีอะไรบ้าง? ฟันของเรา ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก คือ...
Read more
ฟันเด็กเหลือง
ดูแลช่องปากถูกวิธี ลดความเสี่ยงไม่ให้ลูกฟันเหลือง
วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่มีปัญหาฟันง่ายที่สุด เนื่องจากเด็กหลายคนอาจไม่มีความรู้เพียงพอต่อการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างทั่วถึง อีกทั้งตัวฟันน้ำนมเองก็ยังไม่แข็งแรงเท่าฟันแท้ที่ขึ้นในวัยผู้ใหญ่ จึงเกิดปัญหาฟันเหลืองได้ง่ายกว่าวัยอื่น วันนี้เราจะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวเพื่อดูแลให้ลูกน้อยฟันขาวขึ้นด้วย สาเหตุฟันเหลืองเกิดจากอะไร อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ การอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีสีเข้มเป็นประจำ จะทำให้สีของอาหารเหล่านั้นติดฟันง่ายขึ้น เช่น ชา...
Read more
หนังน่าดู กับเรื่องวุ่นๆของวัยรุ่นกำลังจะโตเป็นสาว แอนิเมชั่นที่แฝงไปด้วยแง่คิดดีๆ
บอกเลยว่า มันเกินคาดมากๆ สนุก และดี กว่าที่คิดไว้ ถึงจะไม่ได้ว้าว หรือดีเยี่ยม แต่ก็ถือว่าจัดอยู่ในเกณฑ์ดีเลย Disney และPixar ไม่เคยทำให้ผิดหวังจริงๆ ชอบประเด็นของครอบครัว...
Read more
BOLT โบลท์ ซูเปอร์โฮ่ง ฮีโร่หัวใจเต็มร้อย
ภาพยนตร์แอนิเมชั่นของดิสนีย์เรื่อง BOLT เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักแสดงสุนัขในรายการซูเปอร์ฮีโร่ทางทีวีที่คิดว่าตัวเองมีพลังพิเศษจริงๆ โบลต์ถูกให้ไปอยู่ที่กองถ่ายเพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นซูเปอร์ด็อกอีกต่อไป วันหนึ่ง การยิงปืนกลับผิดพลาด โบลต์พยายามช่วยเพนนี เพื่อนทางทีวีของเขา แต่ดันถูกส่งมาในกล่องโดยบังเอิญสู่โลกจริงที่นิวยอร์กซิตี้ เขาพบแมวชื่อมิตเทนส์...
Read more
Translate »